พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ตั้งอยู่บนถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นอาคารโรงกษาปณ์ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกยุคฟื้นฟูวิทยาการ สำหรับเป็นโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ เมื่อมีการพัฒนาเครื่องจักรที่ใหญ่โตขึ้นในเวลาต่อมา จึงย้ายที่ทำการไป ณ โรงกษาปณ์ ปัจจุบันอาคารแห่งนี้จึงร้างลง ครั้นในวาระครบ 100 ปีการพิพิธภัณฑ์ไทย กรมศิลปากรมีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานด้านศิลปะสมัยใหม่ จึงได้ขอใช้อาคารโรงกษาปณ์เก่านี้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานศิลปะ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ยินดีมอบอาคารแห่งนี้แก่กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2517
กรมศิลปากรได้ดำเนินการซ่อมแซมอาคาร ปรับปรุงภายในให้เหมาะต่อการเป็นพิพิธภัณฑสถานศิลปะ จนแล้วเสร็จและได้มีพิธีเปิดเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2520 มีชื่อในครั้งแรกเปิดนี้ว่า “หอศิลปแห่งชาติ” หลังจากนั้นหอศิลปแห่งชาติก็ได้ปิดลงเพื่อปรับปรุงพื้นที่และจัดแสดงผลงานเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์ และเปลี่ยนชื่อให้ตรงตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2521 ดำเนินงานต่อมาในฐานะฝ่ายหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทั่งในปีพ.ศ. 2538 ได้มีกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น "หอศิลปแห่งชาติ" และได้รับการขยายหน่วยงานให้เติบโตขึ้นเทียบเท่าส่วน มีผู้บริหารเป็นผู้อำนวยการระดับ 8 ขึ้นตรงต่อสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร โดยมีหน่วยงานย่อยอยู่ในความดูแลอีก 1 แห่ง คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และต่อมาในปี 2541 ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป" เช่นเดิมจนปัจจุบัน ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 18 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521

หน้าที่การดำเนินงาน
1.เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เก็บรวบรวม และจัดแสดงศิลปวัตถุทางด้านศิลปะทั้งศิลปะแบบประเพณีและศิลปะร่วมสมัยของศิลปินผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย
2.จัดแสดงภาพเขียน จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปประยุกต์ และงานฝีมือที่เป็นประณีตศิลป์ของศิลปินต่าง ๆ ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
3.วางแผน คิดค้น วิเคราะห์ วิจัย เรื่องราวทางด้านศิลปะ สาขาทัศนศิลป์เพื่อการคิดค้นและพัฒนาการจัดแสดง และการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
4.ให้บริการทางการศึกษา จัดกิจกรรม จัดนิทรรศการให้ความรู้ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจการต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
5.ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของวัตถุที่จัดแสดงและอาคารสถานที่
6.ดำเนินการป้องกันการเสื่อมสภาพของวัตถุ ตรวจสอบสภาพ และซ่อมสงวนรักษาวัตถุที่จัดแสดงและเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
7.ประสานงาน ให้ความร่วมมือ และเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและการจัดแสดงภาพศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมกับหน่วยงาน องค์กรทั้งในและต่างประเทศ
8.ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบข้อหารือทางวิชาการ และให้ความร่วมมือส่งเสริม สนับสนุนกิจการและการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานด้านศิลปะ ทั้งของภาครัฐและเอกชน


กิจกรรม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มีพื้นที่จัดแสดงทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน
นิทรรศการถาวร
อาคารด้านหน้า ชั้นบน (อาคารด้านทิศตะวันตก) จัดแสดงนิทรรศการถาวรศิลปะแบบไทยประเพณี ซึ่งเป็นผลงานศิลปะไทยที่สร้างสรรค์ขึ้นแต่ครั้งอดีตกาล ในรูปแบบต่าง ๆ ถึงพัฒนาการของศิลปะในประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลในแบบไทยประเพณี จนถูกถ่ายทอด ปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบศิลปะร่วมสมัยโดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังโบราณ
ส่วนที่ 2 ภาพภาพเขียนบนผ้าหรือกระดาษ เช่น ภาพในสมุดข่อย เป็นต้น
ส่วนที่ 3 เป็นภาพยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างภาพเขียนแบบสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก และภาพเขียนที่ยังคงอนุรักษ์แบบประเพณีไว้ผสมผสานกัน เช่น ภาพเขียนเนื่องในโอกาสต่าง ๆ ได้แก่ งานพระเมรุ งานฉลองสมโภช เป็นต้น
ส่วนที่ 4 ภาพเขียนบนตู้พระธรรม และอื่น ๆ
อาคารด้านหน้าชั้นล่าง จัดแสดงผลงานศิลปกรรมร่วมสมัย ซึ่งผลงานศิลปกรรมส่วนใหญ่เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป โดยการซื้อ บริจาค และจากที่ศิลปินและหน่วยงานต่าง ๆ ให้ยืมจัดแสดง แบ่งเป็นห้อง ดังนี้
ห้องฝีพระหัตถ์ แสดงภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
หอศิลปินอาวุโส แสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย ทั้งประเภทจิตรกรรมและประติมากรรมของศิลปินรุ่นอาวุโสที่มีชื่อเสียงของไทย
หอศิลปินร่วมสมัย แสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย ทั้งประเภทจิตรกรรมและประติมากรรมของศิลปินรุ่นหลังที่มีชื่อเสียงของไทย
นิทรรศการหมุนเวียน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มีแผนการจัดนิทรรศการหมุนเวียนตลอดทั้งปีปีละประมาณ 20 นิทรรศการ โดยจัดแสดงเดือนละ 2-4 เรื่อง ผลงานที่นำมาจัดแสดงเป็นผลงานศิลปะทุกประเภทที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการดำเนินงานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป นับได้ว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพของศิลปินทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยนำมาจัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน 1-8 (อาคารชั้นเดียวด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก) อาคารอเนกประสงค์ และอาคารทิศใต้ นอกจากการใช้พื้นที่ในการจัดนิทรรศการแล้วยังมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางศิลปะอีกมากมาย ตัวอย่างกิจกรรมได้แก่ การจัดอบรมฝึกทักษะด้านศิลปะแก่เยาวชนการเปิดให้เป็นสถานที่ทัศนศึกษาและการร่วมมือกับองค์กรเอกชน เช่น การจัดเสวนา การจัดแรลลี่ด้านศิลปะ เป็นต้น


ผลงาน
มีคณะกรรมการดำเนินงานทำหน้าที่
1.วางแนวทางการดำเนินงานและแผนงานการพัฒนาและปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ตามนโยบายของคณะกรรมการอำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
2. พิจารณาคัดเลือกและจัดหาผลงานศิลปะเพื่อเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
3. ให้คำแนะนำในด้านวิชาการเพื่อการปรับปรุงนิทรรศการถาวรและจัดนิทรรศการหมุนเวียน
4.ให้ความเห็นชอบในการประเมินราคาผลงานศิลปะสมัยใหม่ที่เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ในกรณีเคลื่อนที่ศิลปะร่วมสมัยไปตั้งแสดง ณ ที่อื่นเป็นการชั่วคราวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
5. ประเมินราคาผลงานศิลปะเพื่อที่จะนำเสนอจัดซื้อเข้าเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
6. ให้คณะกรรมการฯ อยู่ในวาระคนละ 2 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น